นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊ก ลงพื้นที่บึงมักกะสัน ถนนจตุรทิศ เขตราชเทวี เนื่องจากเมื่อวานนี้ (15 ก.ค.) เกิดเหตุการณ์ปลาน็อกน้ำ ซึ่งพบปลาหมอคางดำที่กำลังแพร่ระบาดเป็นจำนวนมาก โดยจากเหตุดังกล่าวจะต้องมีการพิจารณา มี 2 ประเด็น คือ 1.เรื่องคุณภาพน้ำ 2.เรื่องปลาหมอคางดำ ซึ่งพบปลาลอยตายจำนวนมาก โดยที่ช่วงเช้าของเมื่อวานนี้ไม่ได้ปล่อยน้ำเข้ามาในบึง เพราะมีการพร่องน้ำออก เพื่อเตรียมรับน้ำฝน อาจจะทำให้น้ำคุณภาพแย่ลง ทำให้ปลาน็อกน้ำได้
“หากปลาหมอคางดำระบาดในจุดนี้จะต้องติดตามต่อไปว่า จะแพร่กระจายไปในจุดอื่นได้อีกหรือไม่ เช่น ออกแม่น้ำเจ้าพระยา คลองสามเสน คลองแสนแสบ คลองตัน โดยจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป”นายชัชชาติกล่าว
ต่อมาเวลา 08.30 น. นายชัชชาติ พร้อมด้วยนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. ไปยังโรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร (ดินแดง2) เขตดินแดง โดยมี นายแสนยากร อุ่นมีศรี ผอ.สำนักพัฒนาสังคม ให้การต้อนรับและรายงานสถานการณ์ว่า เมื่อวานนี้ทางสำนักพัฒนาสังคมไปจับปลาตายเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นปลานิล 90% ที่เหลือเป็นปลาหมอคางดำ
จากนั้นนายชัชชาติและคณะ เข้าไปยังห้องเรียนสอนทำอาหารไทย ซึ่งมีการนำปลาหมอคางดำมาทดลองประกอบอาหาร ทั้งนี้ครูผู้สอนระบุว่าปลาหมอคางดำ หัวจะเหมือนปลาหมอ ส่วนสำตัวเหมือนปลานิล แต่มีความคาวกว่า จึงต้องล้างด้วยมะขามเปียกผสมน้ำ เพื่อล้างเมือกและกลิ่นคาว ซึ่งครูผู้สอนได้ทำเมนูปลาทอดกระเทียม
นายชัชชาติกล่าวว่า การกินปลาหมอคางดำเป็นหนึ่งในวิธีกำจัดของกรมประมง คือการสร้างมูลค่าเพิ่ม ส่วนวิธีกำจัดอื่นๆเช่น ล่าให้หมด, ปล่อยนักล่า เช่นปล่อยปลากระพงขาว, พยามกำจัดไม่ให้แพร่กระจาย, หาแนวร่วมช่วยกัน, ใช้วิทยาศาสตร์ เช่น การทำหมันแล้วปล่อยลงไป, พยายามหาทางเยียวยา
ต่อมานายชัชชาติได้ทดลองกินปลาหมอคางดำทอดกระเทียม พร้อมเผยว่ามีรสชาติอร่อย และได้กินจนหมดตัว และจากนั้นทางโรงเรียนได้จัดโต๊ะอาหารเสิร์ฟเมนูปลาหมอคางดำราดพริก พร้อมไข่เจียว ไก่ทอด
“ไม่ได้สนับสนุนให้เลี้ยงปลาหมอคางดำ สนับสนุนให้กำจัด ถ้าจับมาแล้วก็นำมากิน“ นายชัชชาติกล่าว
จากนั้นเวลา 09.30 น. นายชัชชาติเดินทางกลับไปยังบึงมักกะสัน พร้อมระบุว่าปัญหาปลาน็อกน้ำลอยตายจำนวนมากเกิดจากโรงบำบัดน้ำเสียดินแดงมีการซ่อมแซมระบบปั๊มน้ำ ทำให้หยุดปล่อยน้ำ และทำให้น้ำมีออกซิเจนน้อยลง โดยใช้เวลาร่วม 20 ชม. ต่อมามีการเปิดระบบปั๊มน้ำเมื่อเวลา 23.00 น.ของเมื่อวาน เชื่อว่าสถานการณ์จะทำให้ปลาดีขึ้น เพราะมีน้ำดีปล่อยออกมาช่วยเพิ่มออกซิเจนในน้ำ แต่ก็พบว่ามีปลาหมอคางดำประมาณ 20% อยู่ในบึงใจกลางเมืองด้วย ซึ่งต้องช่วยกันกำจัดต่อไป
ด้านนายกรณิศ บัวจันทร์ ผอ.เขตราชเทวี กล่าวว่า ได้จัดเจ้าหน้าที่สำนักงานเขต ร่วมกับสำนักสิ่งแวดล้อม และสำนักการระบายน้ำ มาเก็บซากปลาตายไปฝั่งกลบ ที่สวนราชเทวีภิรมย์ เขตราชเทวี โดยจะมีการขุดดินลึก 2 เมตร และโรยปูนขาวบนซากปลาก่อนฝังกลบ