เมื่อเวลา 10.00 น. (10 เม.ย.) ทนายอนันต์ชัย ไชยเดช พร้อมด้วย น.ส.พัณณ์ชิตา ไชยเดช ทีมทนายบริษัทกฎหมายอนันต์ชัย ไชยเดช จำกัด พาครอบครัวของ ด.ญ. วัย 9 ขวบ เข้าร้องเรียนต่อกระทรวงสาธารณสุข โดยยื่นหนังสือผ่าน นายกองตรี ดร.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข
จากกรณี ด.ญ. วัย 9 ขวบ เข้ารักษาตัวที่ รพ. แห่งหนึ่ง ใน กทม. เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2568 ด้วยอาการท้องเสียและอ่อนเพลีย ต่อมามีอาการอาเจียน ชักเกร็ง ตาค้าง นิ่งไม่รู้สึกตัว ความดันลด หมอจึงได้ให้ยาอะดรีนาลีนเพื่อเพิ่มความดัน แต่อาการยังไม่ดีขึ้น จึงย้ายมารักษาตัวที่ รพ. แห่งที่สอง ด้วยภาวะวิกฤติ ภายในปอดมีฝ้า หัวใจโตและเต้นผิดจังหวะ จึงต้องใส่ท่อช่วยหายใจ มีอาการรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ
ต่อมาวันที่ 19-20 ก.พ. 2568 อาการเริ่มหนักขึ้น ตาทั้งสองข้างบอด มองไม่เห็น พูดไม่ได้ แขน-ขาขยับไม่ได้ หมอจึงเรียกพ่อกับแม่เข้ามาชี้แจงว่า อาการแบบนี้เกิดจากสภาวะหัวใจหยุดเต้น สมองขาดเลือดนานจนเกิดภาวะสมองตาย ให้พ่อแม่ทำใจไว้ น้องอาจจะหาย แต่กลับมาไม่เหมือนเดิม แถมยังบอกว่ารักษาเกินสิทธิ์ 30 บาทแล้ว จะเอาอะไรอีก
เมื่อพ่อกับแม่ถามหมอว่าเกิดเรื่องแบบนี้ได้อย่างไร หมอตอบว่า เกิดจากการฉีดยาอะดรีนาลีนกระตุ้นความดัน ที่ฉีดตั้งแต่วันแรก ทำให้น้องช็อก หัวใจหยุดเต้นไปประมาณ 4 นาที และยังมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ อยู่ด้วย น่าจะมาจากผลข้างเคียงของฤทธิ์ยา
ซึ่งพ่อกับแม่ยังยืนยันว่า ทางครอบครัวไม่ได้ต้องการดำเนินคดีกับหมอ เพราะมีความเข้าใจว่าในกระบวนการรักษามีโอกาสที่จะเกิดข้อผิดพลาดขึ้นได้ แต่อยากขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือด้านการรักษาให้ลูกสาวกลับมาเป็นปกติ หรืออย่างน้อยสามารถดูแลตัวเองได้
เนื่องจากตอนนี้แม่ต้องลาออกจากงานประจำเพื่อมาเฝ้าอาการป่วย และดูแลลูกสาวที่ตายังมองไม่เห็น ไม่สามารถเดินได้ด้วยตัวเอง และไม่สามารถกินอาหารเองได้ จึงเหลือพ่อที่ต้องทำงานคนเดียว อีกทั้งยังมีลูกน้อยอีก 3 คน ที่พ่อแม่ต้องดูแล เป็นเด็กอายุ 4 ขวบ 3 ขวบ และ 2 ขวบ
ทนายอนันต์ชัย ระบุว่า หลังได้รับเรื่อง และได้เดินทางไปเยี่ยมด้วยตัวเอง พบว่าน้องตามองไม่เห็น สมองพิการ จึงได้นัดพูดคุยกับผู้อำนวยการโรงพยาบาล ซึ่งได้ยอมรับว่ามีการฉีดยาอะดรีนาลีนเกินขนาดจริง
ซึ่งการเดินทางพาพ่อแม่ของน้องมายื่นเรื่องร้องเรียนที่กระทรวงสาธารณสุข ไม่ได้อยากดำเนินคดีกับหมอ แต่มุ่งไปที่ตัวเด็ก อยากให้มีการรักษาที่ดีขึ้น จะรักษาอย่างไร หรือจะมีการเยียวยาอย่างไร เพราะต้องดูแลน้องไปตลอดชีวิต
ด้าน รศ.นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ กรรมการแพทยสภา ซึ่งได้เข้าร่วมรับเรื่องร้องเรียนครั้งนี้ กล่าวว่า จากข้อมูลและหลักฐานในเบื้องต้นสรุปได้ว่า ผู้ป่วยมีความผิดปกติด้านสมองจริง หลังจากรับเรื่องจะนำข้อมูลเข้าสู่ที่ประชุมของแพทยสภา เพื่อร่วมหาแนวทางช่วยเหลือผู้ป่วยรายนี้
สำหรับยาอะดรีนาลีน จัดเป็นยาอันตรายควบคุมพิเศษ เป็นกลุ่มยาที่ใช้กระตุ้นหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งจะใช้ในกรณีคนไข้ที่ต้องการเพิ่มความดัน หรือกลุ่มผู้ที่มีภาวะช็อกจากการแพ้ยาหรือการแพ้อาหาร แต่ในขั้นตอนการใช้ต้องมีแพทย์หรือพยาบาลเฝ้าระวัง และติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ซึ่งโดยปกติในร่างกายมนุษย์ก็สามารถผลิตฮอร์โมนอะดรีนาลีนได้เช่นกัน
นายกองตรี ดร.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ได้ประสานกรมการแพทย์ในการร่วมพิจารณาหาแนวทางช่วยเหลือด้านการรักษา ส่วนการดำเนินการตรวจสอบ กระทรวงสาธารณสุขจะร่วมประสานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้
ทั้งนี้ โรงพยาบาลที่เกิดเหตุเป็นโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร แต่จะให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพช่วยตรวจสอบ รวมถึงการดำเนินการยื่นเรื่องขอค่าชดเชยเยียวยาต่างๆ ตามกฎหมาย
หากเป็นความผิดพลาดในการรักษา จะมอบหมายให้ทางแพทยสภาและสภาการพยาบาลเข้าร่วมตรวจสอบจริยธรรมของแพทย์และพยาบาลที่ให้การรักษาในครั้งนั้น