หญิงคนหนึ่งร้องเรียนมายังเพจโหนกระแสว่า โดนสามีและเพื่อนสามีร่วมกันทำร้ายร่างกาย เพราะไม่พอใจที่เธอต่อว่าเรื่องมามั่วสุมในห้อง และที่ผ่านมาสามีมักมีพฤติกรรมรุนแรง จนตอนนี้ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของลูกมาก
หญิงผู้ร้องเรียน เล่าว่า ตนอยู่กินกับสามีมา 9 ปี มีพิธีผูกข้อไม้ข้อมือและจดทะเบียนสมรสกันอย่างถูกต้อง มีลูกสาวด้วยกัน วัย 6 ขวบ พักอาศัยอยู่ย่านอ่อนนุช
ช่วงหลังๆ ตนกับมีปัญหาระหองระแหงกันบ่อย เพราะสามีไม่ค่อยมีความรับผิดชอบ และมักให้ความสำคัญกับคนอื่นมากกว่าลูกเมีย บางครั้งนัดกันแล้วว่าจะพาตนไปหาหมอ แต่พอถึงเวลาก็เลือกที่จะไปหาไปสังสรรค์กับคนรู้จัก ทำให้มีปากเสียงกันหนักขึ้น ทางครอบครัวสามีก็เริ่มไม่พอใจตน ตนจึงคิดว่าแยกกันอยู่ก่อนดีกว่า แต่ยังมีพูดคุยพบปะกันเรื่องลูก
จากนั้นช่วงเดือน พ.ย. 66 สามีอยากกลับมา ตนจึงได้บอกไปว่าจากปัญหาที่ผ่านมาคงกลับเข้ามาอยู่ในบ้านตนไม่ได้แล้ว ต้องแยกที่อยู่ จึงได้เช่าห้องพักใกล้ๆ บ้าน โดยมีชื่อตนเป็นผู้ทำสัญญา
สามีมักจะพาเพื่อนมามั่วสุมที่ห้อง ทั้งสูบบุหรี่ในห้อง ทั้งดื่มน้ำกระท่อมผสมยาอะไรตนก็ไม่ทราบ ที่ผ่านมาตนขอร้องดีๆ ตลอดว่าอย่ามาทำแบบนี้ในห้องเลย เพราะกลัวลูกสาวมาเห็น ลูกสาวก็มีปัญหาเรื่องระบบทางเดินหายใจอยู่ และหากมีปัญหาอะไรตนต้องรับผิดชอบ แต่ทั้งสามีและเพื่อนสามีก็ไม่ได้มีความนึกคิดหรือเกรงใจแต่อย่างใด
จนวันหนึ่ง ตนกลับจากทำงานเร็วกว่าปกติเพราะมีงานในวันถัดไป ตนก็อยากจะรับพักผ่อน แต่กลับมาเจอสภาพเดิมๆ จึงได้ขอให้เพื่อนๆ สามีกลับไป แต่ทางสามีไม่พอใจ เกิดมีปากเสียงกันอีก พอถามว่าเลือกเพื่อนมากกว่าเมียใช่ไหม สามีก็ตอบว่าใช่ และเขาไม่เคยเลือกตนเลย
ในขณะที่ตนกำลังใส่หมวกกันน็อก เพื่อจะขี่ จยย. กลับบ้านตัวเอง สามีกลับทำร้ายจากด้านหลัง และระหว่างทาง สามีกับเพื่อนสามีอีก 2 คน ก็ตามมาทำร้ายต่อ สามีเป็นคนล็อกคอ จากนั้นก็โดนทั้งเตะ ทั้งต่อย น้องชายตนพยายามห้ามและเข้าช่วย แต่ก็สู้แรงเขาทั้ง 3 คนไม่ได้
ขณะนี้ตนได้เข้าแจ้งความที่ สน.พระโขนง แล้ว และต้องการให้สามีมาหย่า ตกลงเรื่องค่าเลี้ยงดูลูก ซึ่งก่อนหน้านี้ตนเคยบอกสามีไปแล้ว แต่สามีก็ไม่หย่า ไม่ยอมพูดคุย และท้าทายให้ตนไปฟ้องศาลเอาเอง
สิ่งที่ตนกังวลและเป็นห่วงมากที่สุดตอนนี้คือ สภาพจิตใจลูก เพราะลูกเห็นรอยที่แม่โดนทำร้าย ลูกเองก็เคยโดนตีหนักจนร้องไห้ยกมือไหว้อ้อนวอนพ่อ และเห็นความอารมณ์ร้อนของพ่อมาตลอด ล่าสุดคุณครูได้ติดต่อมาพูดคุยเนื่องจากลูกเริ่มพูดถึงความรุนแรงในบ้าน และยังวาดภาพระบายสีออกมาในลักษณะเศร้า หดหู่