จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ ‘ปลาหมอคางดำ’ ซึ่งเป็นเอเลียนสปีชีส์ เป็นสัตว์ที่มาจากต่างถิ่น แพร่ขยายกระจายพันธุ์อย่างรวดเร็ว จนส่งผลกระทบกับระบบนิเวศและสัตว์น้ำประจำถิ่น
ล่าสุด เมื่อช่วงเช้า ผู้สื่อข่าวรับแจ้งจากชาวบ้านที่กำลังเหวี่ยงแหหาปลาในคลองนายแฉ่ง ต.บางคูรัด อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ว่าพบ ปลาหมอคางดำแพร่ระบาดในคลองแห่งนี้ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติแล้ว จึงเดินทางลงพื้นที่ไปตรวจสอบ
เมื่อไปถึงก็ได้พบกับนายประเทือง อายุ 47 ปี และนายวีรศักดิ์ อายุ 40 ปี ชาวบ้านที่กำลังเหวี่ยงแหหาปลาอยู่ พร้อมกับโชว์ปลาหมอคางดำที่เพิ่งจับมาให้ผู้สื่อข่าวดู
ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปที่บ้านนายประเทือง ซึ่งหลังจากจับปลาหมอคางดำได้ ก็นำมาทำเป็นอาหารโชว์ โดยภรรยานายประเทืองนำปลาหมอคางดำที่จับได้มาล้างทำความสะอาด และผ่าเอาหัวกับไส้ออก ก่อนจะนำไปหมักน้ำปลากับผงชูรส แล้วนำไปทอดในน้ำมัน ซึ่งตั้งไฟกลางอ่อนๆ และใช้เวลาประมาณ 10 นาที จึงได้ปลาหมอคางดำทอดที่มีสี น่ากิน ไม่แตกต่างกับปลาทอดชนิดอื่นๆ
แต่จากการสังเกตพบว่า ปลาหมอคางดำมีไข่อยู่ในท้องเป็นจำนวนมาก ไม่เว้นแม้แต่ตัวเล็กที่มีไข่เต็มท้องเช่นกัน ผิดกับปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วไป
นายสุริยา เผือกบาง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ต.บางคูรัด ได้ทดลองชิมรสชาติปลาหมอคางดำหมักน้ำปลาทอด พบว่าตัวปลามีกลิ่นหอมมากกว่าปลานิล เนื้อปลาก็ดี รสชาติอร่อย เหมาะกับการนำมาทำเป็นปลาหมอแดดเดียวหรือปลาหมอหมักน้ำปลา
จากการสอบถามชาวบ้านในพื้นที่ ต.บางคูรัด ทราบว่าที่ผ่านมา แม้จะจับปลาหมอคางดำมาได้ แต่ยังไม่รู้ว่าเป็นปลาอะไร ประเภทไหน แต่ชาวบ้านก็จะนำมาทำเป็นอาหารกินอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งก่อนหน้านี้จะพบเพียงไม่กี่ตัว ต่างกับปัจจุบันที่พบเพิ่มเป็นจำนวนมาก
ซึ่งชาวบ้านที่นำปลาหมอคางดำมาทำเป็นอาหารยืนยันว่า ปลาหมอคางดำที่นำมาทำเป็นอาหารนั้นไม่มีอันตรายอะไร สามารถจับมาทำเป็นอาหารกินได้เหมือนกับปลาทั่วไป
ที่มา : ข่าวสด