ที่บ่อเลี้ยงปลากะพง ของนายวัลลภ ใน ต.แพรกหนามแดง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม บอกว่าตนเลี้ยงกุ้ง 520 ไร่ ต่อมาปี 2554 ปลาหมอคางดำเริ่มระบาด จึงหันมาทดลองเลี้ยงปลากะพงในบ่อพื้นที่ 20 ไร่ก่อน โดยซื้อลูกพันธุ์ปลากะพงปล่อย 5,000 ตัว แล้วปิดบ่อตาย พอครบกำหนดจับ ปลากะพงเหลือไม่ถึง 1,000 ตัว แต่ได้ปลาหมอคางดำถึง 9 ตัน ตนจึงรู้ว่าการปล่อยปลากะพงขนาด 3-4 นิ้ว มันสู้กับปลาหมอคางดำไม่ไหว เพราะช่วงแรกที่ปล่อย ปลากะพงจะอ่อนเพลีย พวกพ่อแม่ปลาหมอคางดำที่ตัวใหญ่ก็จะรุมเข้าใส่ กัดตัว กัดหางจนปลากะพงตาย
ต่อมาตนทดลองขุดบ่อขนาด 10 ไร่ ปรับพื้นที่ตากบ่อให้แห้งนานเกือบ 2 เดือน จึงปล่อยน้ำผ่านการกรองเข้าบ่อ เพียงครึ่งเดือนสังเกตเห็นลูกปลาหมอคางดำเต็มไปหมด ครั้งนี้ตนจึงปล่อยปลากะพงขนาด 4 นิ้วลงไป 1,000 ตัว พอวิดบ่อได้ปลาหมอคางดำ 7 ตัน แต่ได้ปลากะพงกลับมาไม่กี่ร้อยตัว ตนยังไม่ท้อ จึงทดลองปล่อยน้ำที่มีปลาหมอคางดำอยู่จำนวนมาก แล้วปล่อยปลากะพงขนาดใหญ่ขึ้น 7-8 นิ้วลงไปอีก 1,000 ตัว ช่วงแรกดีหน่อย เหมือนปลาหมอคางดำลดลง แต่หลังจากนั้น 5-6 เดือน ปลาหมอคางดำก็เต็มไปหมด ครั้งนี้เมื่อวิดบ่อขึ้นมาได้ปลาหมอคางดำ 5 ตัน ส่วนปลากะพงอยู่ครบ
นายวัลลภ กล่าวว่า ปลากะพง กินปลาหมอคางดำที่ใหญ่กว่าไม่ได้และกินปลาที่เล็กมากๆ ไม่ได้เช่นกัน ที่กรมประมงบอกว่า ปล่อยปลากะพงมากินไข่ กินลูกปลาตัวเล็กๆ มันเป็นไปไม่ได้ เพราะตัวผู้มันอมไข่ อมลูก แล้วปลากะพงจะกินยังไง อีกทั้งปล่อยในธรรมชาติ ในคลองมีกอไม้ ต้นไม้ ที่หลบซ่อนของปลาหมอคางดำเยอะ ปลากะพงก็คงเข้าไปกินลำบาก หากจะปล่อยในลำคลองต้องไม่ต่ำกว่า 6-7 นิ้ว จึงช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่มีทางที่จะกำจัดมันได้ ตนไม่เห็นด้วยที่จะปล่อยขนาด 2-3 นิ้ว
นอกจากนี้หากปล่อยเป็นระยะๆ ที่เดียวกัน ปลากะพงตัวเล็กจะถูกปลาหมอคางดำตัวใหญ่ไล่กิน เพราะตนทดลองมาแล้ว ดังนั้นตนมองว่าการปล่อยปลากะพง มันก็เป็นวิธีการหนึ่ง แต่ถ้าจะแก้แบบสมบูรณ์ ตนว่าไม่มีทาง และที่สำคัญ นักล่าปลากะพงคือคน ถ้าปล่อยปลากะพงเยอะๆ คนก็จะจับไปกิน ไปขายหมด ส่วนปลาหมอคางดำก็ยังอยู่เหมือนเดิม
ส่วนการที่รัฐบาลรับซื้อปลาหมอคางดำ กิโลกรัมละ 15 บาทนั้น นายวัลลภ บอกว่า เมื่อหลายปีมาแล้ว ที่ปลาหมอคางดำระบาดในพื้นที่ 4 ตำบล 2 จังหวัด คือ สมุทรสงครามและ เพชรบุรี ก็มีการรับซื้อ กก.ละ 20 บาท แต่ต้องขึ้นทะเบียนประมง ในแหล่งน้ำธรรมชาติ และยังจำกัดเวลารับซื้อแค่ 2 วัน บ่อหลายบ่อ หลายร้อยไร่ให้จับพร้อมกันมาขาย จะเอาแรงงานที่ไหน ขึ้นปลาไม่ทันก็ปล่อยทิ้งไว้ในบ่อ บางบ่อจับหมด พอปล่อยน้ำเข้า ปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติก็เข้ามาอีก
ดังนั้น ตนเห็นว่าต้องเปิดรับซื้ออย่างไม่มีข้อจำกัดเวลา ตนมองว่าการแก้ไขปัญหาการระบาดของปลาหมอคางดำนั้นยาก แต่เราก็ต้องปรับตัว ซึ่งตนก็ต้องปรับตัวเป็นบ่อตกปลากะพง เลี้ยงปลากะพงขนาดใหญ่ ขณะที่ธรรมชาติยังไงก็ไม่มีทางกำจัดได้ ทำได้อย่างเดียวคือ ทำให้จำนวนน้อยลง อีกอย่างฝากรัฐบาลดูแลอย่าให้มีการนำเข้าปลากะพง แล้วอ้างเอามาปราบปลาหมอคางดำ เพราะจะเข้ามากดราคาปลากะพงในประเทศ จนเกษตรกรเขาอยู่ไม่ได้ เพราะต้นทุนสูง ไม่ต่างจากทำบ่อกุ้ง
นายวัลลภ กล่าวว่า ปลากะพงจะกินปลาหมอคางดำเป็นตัวเลือกสุดท้าย ตนเคยทดลองปล่อยปลานิลรวมกับปลาหมอคางดำ และก็ปล่อยปลากะพงตัวขนาด 7-8 นิ้วลงไป ผลปรากฏว่า ปลานิลหมดไม่เหลือ แต่ปลาหมอคางดำกลับเยอะมากขึ้น ต่อมา ก็ลงปลานิล กุ้ง ปลาหมอคางดำ และปลากะพง สุดท้าย กุ้ง กับปลานิลก็หมดไม่เหลือเช่นกัน ดังนั้นตนจึงเห็นว่าการปล่อยปลากะพงเยอะก็ไม่ใช่ว่าจะกินปลาหมอคางดำอย่างเดียว แต่มันจะไปกินปลาชนิดอื่นไม่เหลืออีกเช่นกัน
ดานนายณัฏฐพล เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งในพื้นที่หมู่ 4 ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม กล่าวว่า เมื่อ 10 ปี ก่อนตนเลี้ยงสัตว์น้ำแบบธรรมชาติพื้นที่กว่า 500 ไร่ จับปลาพื้นถิ่น เช่น กุ้ง ปลากระบอก ปลาดุก ปลาหมอเทศ และปลาธรรมชาติธรรมชาติได้มากมาย แต่เมื่อปี 2554 ตั้งแต่ปลาหมอคางดำเริ่มระบาด มันกินลูกกุ้ง ลูกปลาจนหมด
ที่ผ่านมาตนเคยสู้กับปลาหมอคางดำ โดยพัฒนาบ่อให้เป็นเชิงพาณิชย์มีการจัดระบบกรองน้ำเข้าและจับปลาขึ้นให้หมด จากนั้นตากบ่อใช้เวลาประมาณ 2 เดือน จนดินแห้งแตกระแหงเป็นฝุ่น แล้วก็นำรถแบกโฮ เข้าไปดันบ่อปรับพื้นแต่งบ่อใหม่ และตากบ่อต่ออีกอีกระยะหยึ่ง คิดว่าจะฆ่าปลาหมอคางดำให้หมด
แต่เมื่อฝนตกลงมา ตนสังเกตเห็นว่ามีอะไรดำผุดในน้ำ แรกๆ คิดว่าลูกอ๊อด แต่เข้าไปดูใกล้ๆ พบว่าเป็นลูกปลาหมอคางดำ ตนยังงงว่าลูกปลาหมอคางดำมาได้อย่างไร แต่จากการวิเคราะห์จึงสรุปว่าปลาหมอคางดำมันน่าจะคายไข่ทิ้งไว้ในบ่อ มันอดทนมาก พอมีน้ำเข้ามามันก็ฟักเป็นตัว กลับมาอีก มันไม่ยอมตาย ตนจึงไม่รู้จะแก้ปัญหายังไง ก็เลยเลิกเลี้ยงไปเยอะ ตอนนี้เหลือไม่กี่ไร่ และก็ต้องเปลี่ยนมาเลี้ยงปลากะพง แต่ราคาก็ไม่ดีสู้ราคากุ้งราคาปลากระบอก ราคาสัตว์น้ำเมื่อก่อนไม่ได้