รายการโหนกระแสวันนี้ พูดคุยกรณี “รองหรั่ง” พ.ต.ท.กิตติ์ชนม์ จันยะรมณ์ รองผกก.ป.สน.ท่าข้าม ถูก “เฮียตุ้ง” อายุ 49 ปี คลุ้มคลั่งยิงเสียชีวิต เหตุเกิดในหมู่บ้านย่านพระราม 2 ผู้ก่อเหตุ จับลูกสาวตัวเองไว้เป็นตัวประกัน เพื่อกดดันให้เมียมาหา มาเจรจา
รองหรั่ง เข้าไประงับเหตุ ก่อนถูกยิงเสียชีวิต สุดท้าย เจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการต่อต้านการก่อการร้าย กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ (191) หรืออรินทราช 26 บุกเข้าจับกุมตามยุทธวิธี ทำให้ผู้ก่อเหตุเสียชีวิต ใช้เวลาปฏิบัติหน้าที่เกือบ 9 ชั่วโมง
คุณเหมี่ยว เพื่อนบ้านที่อยู่ในที่เกิดเหตุ บอกว่า บ้านของตนอยู่ตรงข้าม เปิดหน้าต่างไปก็จะเจอห้องนอนเขาเลย เราเห็นเขาตบตีลูกเป็นประจำ เท่าที่ทราบจากเพื่อนบ้านด้วยกัน ทราบว่าเขาเป็นคนอารมณ์รุนแรง ตบตีเมียบ่อย พอลูกๆ เข้าไปปกป้องแม่ ก็จะโดนลูกหลงโดนพ่อตบตีด้วย
วันดีคืนดี ลูกเมียไม่อยู่บ้าน เขาก็จะคลุ้มคลั่ง ยิงปืนในห้องนอนตัวเอง ยิงรัว ปังๆๆๆ บางทีก็ไปยิงบนดาดฟ้า เรานอนหลับอยู่เขาก็ยิงจนเราสะดุ้งตื่น กลัวว่าวันดีคืนดีกระสุนปืนมันจะลอยมาตกบ้านเรา เหตุการณ์แบบนี้ชาวบ้านไม่มีใครกล้าแจ้งความสักคน เพราะกลัวสภาพจิตเขา กลัวว่าเขาจะมาทำอะไรเรา
คุณเปิ้ล เล่าว่า วันเกิดเหตุไปทำอาหารกินกันที่บ้านเพื่อน ซึ่งอยู่ข้างๆ บ้านที่เกิดเหตุ ช่วงประมาณทุ่มเศษ ได้ยินเสียงโต้เถียง เสียงทุบประตู พ่อกับลูกสาวเขาทะเลาะกัน มีเสียงปืนดังก่อนสามนัด สักพักลูกสาวคนโตเขาก็มาที่บ้าน แล้วตำรวจก็เริ่มมากันแล้ว เราวิ่งออกมาดู เป็นบางครั้งบางทีเวลาที่เสียงดังมากๆ
สักพักภรรยาของเฮียตุ้งก็มา แต่ตอนแรกเขายังเข้าบ้านไปไม่ได้ สุดท้ายเฮียตุ้งออกมาเปิดประตู รองหรั่งซึ่งตามมาสมทบในที่เกิดเหตุ ดักซุ่มอยู่หลังรถ พอเห็นว่าเฮียตุ้งเปิดประตู ก็วิ่งนำกำลังสวนเข้าไป วินาทีนั้นมีเสียงปืนดังสนั่นรัว เห็นคนล้มลง ซึ่งก็คือรองหรั่ง หลังจากนั้นเพื่อนบ้านก็วิ่งหนีเอาชีวิตรอด ไม่กล้าดูต่อแล้ว
ขณะที่ รองแต้ม พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล มองว่า เจตนาของรองหรั่งเป็นเจตนาที่ดี เขาเป็นตำรวจที่ยศใหญ่ที่สุดในที่เกิดเหตุ ทำให้เขาเป็นผู้บัญชาการในที่เกิดเหตุ แต่เท่าที่ดูในคลิป จะเห็นว่าเขาปฏิบัติหน้าที่ไม่รัดกุมนัก ตอนที่ไปยืนเจรจาก็ไปยืนชิดติดรั้วบ้าน ถ้าเขายิงปืนออกมาก็โดนพอดี การเจรจาเกลี้ยกล่อมในลักษณะนี้ ควรต้องถอยระยะห่างออกมา ใช้เครื่องขยายเสียง อะไรต่างๆ นานา
การจะเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ลักษณะนี้ ตำรวจต้องหาข้อมูลให้มากที่สุด ต้องรู้ว่าคนร้ายมีอาวุธไหม มีเยอะแค่ไหน ความรุนแรงเป็นอย่างไร ต้องประสานขอกำลัง แจ้งผู้บังคับบัญชาอย่างไร ต้องยอมรับว่าการปฏิบัติหน้าที่ในวันนั้น ไม่รัดกุมเท่าที่ควร
ด้าน ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต พิจารณาว่า เคสนี้มีประวัติการทำร้ายร่างกายคนในครอบครัว มีประวัติยิงปืนในที่ชุมชน อะไรต่างๆ เหล่านี้ สามารถยึดใบอนุญาตครอบครองอาวุธปืนได้แน่นอน แล้วถ้าจะอ้างว่าเป็นผู้ป่วยจิตเวช เพื่อให้รอดจากการถูกดำเนินคดี ก็จะไปสอดคล้องกับเคสที่ผ่านๆ มา คือต้องไปพิสูจน์ในศาลให้ได้ว่า เขาป่วยถึงขนาดไม่มีสติรู้ผิดชอบชั่วดีขนาดนั้นไหม
เคสลักษณะนี้ อยากให้รู้ว่า คนเป็นหมอก็อยากจะรักษาคนป่วยในตอนที่อาการยังไม่หนัก เช่นเดียวกันกับตำรวจ ก็อยากไประงับเหตุตอนที่มันเบากว่า ดีกว่ารอให้เขาเอาปืนออกมาไล่ยิงใคร เรื่องนี้ต้องให้ทุกฝ่ายช่วยกันดู ช่วยกันระวัง การก่อเหตุรุนแรงแต่ละครั้งมันจะมีสัญญาณมาก่อนเสมอ ไม่ใช่อยู่ดีๆ เขาจะออกมาทำแบบนี้เลย
เคสนี้ชัดเจนมาก คือเริ่มใช้ความรุนแรงในครอบครัว สมาชิกในครอบครัวหนีไป ผู้ป่วยจิตเวชอาจไม่ได้รับการรักษาแล้ว เริ่มออกมาโวยวายนอกบ้าน ออกมาใช้อาวุธ เพื่อนบ้านต้องรู้เลยว่านี่เป็นสัญญาณที่ไม่ดีแล้ว ตราบเท่าที่เขายังมีสติ พูดคุยกันรู้เรื่อง จะยังเจรจา ยังพูดดีๆ กับเขาได้ ไม่ผลักเขาออกไปจากสังคม แต่พอมันหนักไปแล้ว มันเจรจาไม่ได้ผลแล้ว
พ.ต.ท.วชิระ อัมฤทธิ์ รองผู้กำกับการ กองกำกับการสนับสนุน กองบังคับการปราบปราม ครูฝึกชุดหนุมานกองปราบ ให้ความรู้เรื่องเสื้อเกราะว่า เสื้อเกราะที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติใช้ จะมีหลายแบบ หลากหลายเลเวล ประสิทธิภาพในการป้องกันจะแตกต่างกันไป แบบที่ใช้กันทั่วไป จะเป็นเสื้อเกราะระดับ 2 ป้องกันกระสุนปืนสั้นได้ทุกขนาด ป้องกันมีดได้ แต่ป้องกันกระสุนปืนขนาดใหญ่ ปืนไรเฟิล ปืน M16 ป้องกันเหล่านี้ไม่ได้ แต่น้ำหนักเบา เป็นเกราะอ่อน คล่องตัวสูง เหมาะกับตำรวจสายตรวจ ที่ต้องเคลื่อนที่เร็ว สำหรับการป้องกันกระสุนขนาดใหญ่ ต้องใช้เกราะเลเวล 4 ที่น้ำหนักสูงกว่ามาก ความคล่องตัวจะน้อยกว่า
ขณะที่คุณตี๋ เจ้าของร้านเสื้อเกราะ เสริมว่า เสื้อเกราะมีอายุการใช้งาน 5 ปี จะมีวันเดือนปีหมดอายุระบุไว้ในแผ่นเกราะ ถ้าถึงเวลาครบ 5 ปี ต้องเอาแผ่นเกราะออกมายิงทดสอบว่ามันยังสามารถป้องกันได้อยู่ไหม อย่าไปเสียดาย แต่พอเป็นของที่ใช้ในราชการ เขาเอาเกราะที่เป็นของราชการมายิงทดสอบทิ้งไม่ได้ ก็ต้องดูจากวันเดือนปีเอา
ส่วนประเด็นที่มีการแชร์กันเรื่องเสื้อเกราะที่เป็นไม้อัด นายตี๋บอกว่า ทำอุปกรณ์ยุทโธปกรณ์มา 40 กว่าปี ไม่เคยเห็นใครเขาเอาไม้อัดมาทำ ถ้าทำได้จริงคนขายรวยเละไปแล้ว ไม้มันกันอะไรไม่ได้อยู่แล้ว แค่ไปจับดูก็รู้แล้วว่าน้ำหนักมันต่างกัน ดูยังไงก็เป็นของปลอม เป็นไปได้ไหมว่าเขาทำหาย ทำชำรุด แล้วหาซื้อของใหม่มาคืนหลวงไม่ได้ ก็เลยเอาแผ่นไม้มายัดหรือเปล่า
ต่อมา มิ้นท์ ลูกสาวของผู้ก่อเหตุ โฟนอินเข้ามาเล่าเหตุการณ์ในวันดังกล่าว ซึ่งตนไม่ได้อยู่ที่บ้านหลังนั้น แต่มีพี่สาว กับน้องอายุ 10 ขวบ ไปอยู่กับพ่อ ช่วงเย็นๆ ตนโทรบอกพี่สาวให้พาน้องออกมาจากบ้านพ่อได้แล้ว เพราะน้องต้องเตรียมตัวสอบ แต่ไม่นานต่อมา พี่สาวก็บอกว่า พ่อกำลังอาละวาดใหญ่แล้ว เหมือนจู่ๆ ก็คลุ้มคลั่งขึ้นมา ตนจึงรีบแจ้งตำรวจ แล้วรีบขี่รถไปที่บ้านของพ่อ
ตอนที่ไปถึง มีความพยายามจะเจรจาให้พ่อปล่อยพี่กับน้องออกมา แต่พ่อไม่ยอม บอกให้เอาแม่มาแลก ให้เอาแม่มาคุยแล้วแลกตัวลูกสาวสองคนออกไป มิ้นท์ยอมรับว่าตอนนั้นตนมีอารมณ์โมโหมาก ไปเขย่าประตูรั้วเหล็ก ตะโกนมีปากเสียงกับพ่อ แต่ทางตำรวจท่านก็บอกให้เราใจเย็นๆ ค่อยๆ พูด
จนกระทั่งแม่มาถึง พ่อพยายามจะให้แม่ขึ้นไปคุยกันชั้นบน แต่แม่ก็ไม่กล้าจะขึ้นไป มีการเจรจาจนบอกว่า จะคุยกันที่ชั้นล่าง ตอนนั้นพ่อยังไม่ได้ถือปืน แต่มีปืนวางอยู่ข้างตัวแล้ว พอพ่อออกมาแง้มประตู เราเป็นคนเข้าไปเปิดให้ประตูมันกว้างขึ้น พ่อก็ตะโกนด่าออกมาว่า จะเปิดกว้างทำ…อะไร จังหวะนั้นพ่อหันไปหยิบปืน เป็นวินาทีเดียวกันกับที่ตำรวจวิ่งสวนเข้าไป แล้วพ่อก็เลยยิงสวนออกมาโดนรองหรั่ง
มิ้นท์บอกว่า หลังเกิดเหตุ ยอมรับว่าถูกสังคมรุมโจมตีว่า การที่เราไปตะโกนด่าทอพ่อ ทำให้พ่อขาดสติ จนเกิดเหตุการณ์นี้ อยากบอกว่า ตนก็เสียใจไม่แพ้กันที่เกิดเหตุการณ์นี้ อยากขอโทษญาติ ครอบครัวของผู้สูญเสีย และอยากขอบคุณที่ช่วยชีวิตพี่และน้องของตนเอาไว้ ตนคงไม่มีอะไรจะพูดมากไปกว่าขอบคุณ และขอโทษ ยืนยันว่าสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น มันมีมูลเหตุของความรุนแรงในครอบครัวมาก่อนแล้ว ไม่ใช่แค่เราที่ไปยืนตะโกนด่าตอนนั้น
ส่วนพ่อ ไม่เคยมีบัตรผู้ป่วยจิตเวช ไม่มีประวัติการรักษาอาการทางจิต แต่มีประวัติไปบำบัดสารเสพติด เพราะพ่อมีประวัติเสพยาเสพติด ซึ่งคนในครอบครัวไม่รู้ว่าพ่อไปติดยาตอนไหน รู้แต่พ่อเริ่มมีพฤติกรรมรุนแรง ฉุนเฉียว ใช้ความรุนแรง จนส่งบำบัด แต่ก็ไม่หาย